วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2567

น้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ (Peppermint oil)

 


น้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ (Peppermint oil)

    “น้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ได้มาจากการนำใบสะระแหน่มาผ่านการกลั่นด้วยไอน้ำ ทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยใสที่มีกลิ่นเย็นสดชื่น สารสำคัญที่พบในน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้คือ สารเมนทอล (Menthol) จากการทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในมนุษย์และเชื้อแบคทีเรียที่พบในอาหารได้ ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียบนพื้นผิวที่ใช้ในการแปรรูปอาหารได้ รวมถึงสามารถใช้ในการลดแบคทีเรียที่พบบนมือของมนุษย์ได้ จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในรูปแบบสเปรย์ ฟิล์ม หรือผสมในบรรจุภัณฑ์ได้”


สะระแหน่ (Peppermint/Mint) 

เป็นพืชสมุนไพรตามธรรมชาติที่มีการนำใบและน้ำมันมาใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคและอาการต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการปวด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร หรือใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้หลายคนอาจคุ้นเคยกับรสหรือกลิ่นของสะระแหน่จากยาสีฟัน ขนม อาหารจานต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอางอีกด้วย

สะระแหน่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม โฟลิค วิตามินซี วิตามินเอ เป็นต้น และในน้ำมันสะระแหน่ยังมีเมนทอล (Menthol) และเมนโทน (Menthone) เป็นส่วนประกอบหลักอีกด้วย นอกจากนี้ ประโยชน์อื่น ๆ ของสะระแหน่ที่ถูกกล่าวถึงและนำมาใช้ในทางการแพทย์ยังมีอีกมากมาย โดยที่หลายคนเชื่อว่าการรับประทานสะระแหน่อาจช่วยบรรเทาอาการหวัด อาการไอ การอักเสบของปากและลำคอ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้แปรปรวน รวมถึงน้ำมันสะระแหน่ยังนำไปใช้ทาที่ผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ รักษาอาการแพ้ ผื่นคัน หรือแม้กระทั่งใช้ไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ แต่ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานสะระแหน่ น้ำมันสะระแหน่ หรือการใช้น้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้


การรักษาด้วยสะระแหน่ที่อาจได้ผล

    ลำไส้แปรปรวน สะระแหน่ได้ชื่อว่าเป็นยาแก้ปวดเกร็งท้องจากธรรมชาติ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยคลายตัวให้กล้ามเนื้อในลำไส้และอาจช่วยบรรเทาอาการของลำไส้แปรปรวนได้ในระยะสั้น ๆ โดยมีการทดลองทางคลินิกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ในการรักษาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 72 คนที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปี รับประทานน้ำมันสะระแหน่หรือยาหลอกวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานน้ำมันสะระแหน่มีอาการดีขึ้นในหลายด้านเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก รวมถึงความรุนแรงของอาการก็บรรเทาลง มีความปลอดภัย ทนต่ออาการข้างเคียงได้ดี และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างรวดเร็ว


    นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้ (Enteric-Coated) ต่อโรคลำไส้แปรปรวน โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 90 คนรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้ 1 แคปซูลหรือยาหลอกวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีการประเมินและติดตามผลในสัปดาห์ที่ 1, 4 และ 8 พบว่าความรุนแรงของอาการปวดท้องลดลงและไม่พบผลข้างเคียงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่าน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้มีความปลอดภัยในการนำไปใช้และมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดท้องและไม่สบายตัวจากโรคลำไส้แปรปรวน


    ถึงแม้ว่าการศึกษา 2 ชิ้นข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ในการบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน แต่มีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นถึงผลการทดลองที่ต่างออกไป โดยให้ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน 65 คน ที่กำลังมีอาการถ่ายเหลว รับประทานน้ำมันสะระแหน่วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่ามีเพียงอาการปวดท้องที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก แต่หลังจากสิ้นสุดการทดลองไปแล้ว 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลับมามีอาการปวดอีกครั้ง รวมถึงอาการอื่น ๆ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าน้ำมันสะระแหน่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้เพียงอย่างเดียว


    เจ็บหัวนมในขณะให้นมลูก เกิดจากการดูดหรือกัดซ้ำ ๆ ของทารก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนหยุดให้นม ในน้ำมันสะระแหน่จะมีสารเมนทอลซึ่งมีในปริมาณไม่มาก มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาและต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งงานวิจัยอ้างว่ามีการใช้น้ำมันสะระแหน่อย่างแพร่หลายสำหรับอาการไหม้ อาการคัน และอาการอักเสบทางผิวหนัง อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อระบบทางเดินอาหารของทารกเมื่อใช้ในปริมาณเล็กน้อย จากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้น้ำสะระแหน่ในการป้องกันอาการหัวนมแตก โดยสุ่มให้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมลูกและตั้งครรภ์ลูกคนแรกจำนวน 196 คน ใช้น้ำสะระแหน่ทาที่บริเวณหัวนม และมีการติดตามผลในช่วง 14 วันแรกและช่วงสัปดาห์ที่ 6 จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ทาน้ำสะระแหน่เป็นประจำทุกวันมีโอกาสเกิดหัวนมแตกและมีอาการเจ็บน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทา และอาจกล่าวได้ว่าน้ำสะระแหน่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการเจ็บหัวนม แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาต่อไปเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำสะระแหน่ร่วมกับเทคนิคการให้นมลูกที่ถูกวิธี


    นอกจากนี้ ยังมีการทดลองเกี่ยวกับการใช้เจลสะระแหน่ในการป้องกันอาการหัวนมแตก โดยสุ่มให้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกจำนวน 216 คน ใช้เจลสะระแหน่ ขี้ผึ้งลาโนลิน หรือเจลยาหลอกทาบริเวณหัวนมทั้ง 2 ข้าง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และมีการติดตามผลในช่วง 14 วันแรกและช่วงสัปดาห์ที่ 6 พบว่ากลุ่มที่ใช้เจลสะระแหน่มีอาการหัวนมแตกน้อยกว่าในกลุ่มที่ใช้ขี้ผึ้งลาโนลินและเจลยาหลอก ซึ่งอาจแนะนำให้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกและอยู่ในช่วงให้นมใช้เจลสะระแหน่เพื่อป้องกันหัวนมแตก


   อาการเกร็งของกล้ ามเนื้อในกระเพาะอาหารขณะส่องกล้อง หากไม่ใช้ยาสลบร่วมด้วยอาจทำให้เกิดการเกร็งหรือบีบตัวของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหาร แพทย์มักใช้ยาแก้ปวดเกร็ง เช่น ยาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ (Pyoscine-N-Butylbromide) เพื่อลดอาการดังกล่าว แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งการใช้น้ำมันสะระแหน่มีความปลอดภัยและทำหน้าที่ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหาร จากการทดลองชิ้นหนึ่งได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีดยาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ทางกล้ามเนื้อและการใช้สารละลายน้ำมันสะระแหน่ขณะส่องกล้อง ในผู้ป่วยจำนวน 100 คน พบว่ากลุ่มที่ใช้น้ำมันสะระแหน่มีอาการเกร็งน้อยกว่าและไม่เกิดผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าการใช้สารละลายน้ำมันสะระแหน่ในขณะส่องกล้อง อาจมีประสิทธิภาพลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารได้ดีกว่ายาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ และไม่มีผลข้างเคียงที่พบหลังการใช้ที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด


    ปวดศีรษะจากความเครียด เป็นการปวดศีรษะชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ส่งผลให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณศีรษะและลำคอ สามารถรักษาด้วยยาบรรเทาอาการปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อระงับอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นจากการทาน้ำมันสะระแหน่จะช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้บางส่วน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา จากการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ต่ออาการปวดศีรษะจากความเครียด โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวน 41 คน อายุตั้งแต่ 18-65 ปี รับประทานพาราเซตามอลขนาด 1,000 มิลลิกรัมหรือยาหลอก และใช้น้ำมันสะระแหน่ความเข้มข้น 10% ในสารละลายเอทานอลหรือยาหลอก ทาให้ทั่วบริเวณหน้าผากและทาซ้ำหลังจากเวลาผ่านไป 15 และ 30 นาที โดยตรวจอาการปวดหลังทาน้ำมันสะระแหน่ไปแล้วทุก 15 นาทีจำนวน 4 ครั้ง พบว่าหลังเวลาผ่านไป 15 นาทีผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันสะระแหน่มีอาการปวดศีรษะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของพาราเซตามอลขนาด 1,000 มิลลิกรัมแล้วไม่พบความแตกต่างแต่อย่างใด และไม่พบการรายงานของผลข้างเคียงจากการรักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียดด้วยน้ำมันสะระแหน่


การรักษาด้วยสะระแหน่ที่เป็นไปได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ


    กลิ่นปาก เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทันตกรรมและอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ มักมีสาเหตุมาจากการสะสมของเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ฟันและลิ้น สุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี หรือผลจากโรคในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น ซึ่งการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสะระแหน่อาจมีส่วนช่วยรักษาอาการดังกล่าว จากงานวิจัยทางคลินิกโดยให้นักเรียนหญิงอายุตั้งแต่ 14-18 ปีที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก จำนวน 84 คน กลุ่มหนึ่งใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสะระแหน่ 1% และอีกกลุ่มใช้ยาหลอก โดยที่ทั้ง 2 กลุ่มใช้น้ำยาบ้วนปากปริมาณ 15-20 มิลลิลิตร เป็นเวลา 30 วินาที และงดรับประทานอาหารหลังบ้วนปาก 30 นาที วันละ 3 ครั้งหลัง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากผลการทดลองพบว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสะระแหน่อาจช่วยลดกลิ่นปาก แต่ด้วยระยะเวลาการทดลองเพียง 1 สัปดาห์อาจไม่เพียงพอต่อการสรุปประสิทธิภาพของสะระแหน่ได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาต่อไปโดยใช้เวลาในการทดลองที่นานขึ้น


    อาการคันในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน จะเริ่มมีอาการคันบริเวณท้องในช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 จนถึงช่วงต้นของไตรมาสที่ 3 แล้วลุกลามไปที่หน้าอก ปลายแขนและปลายขา บรรเทาได้ด้วยครีมหรือโลชั่นทาผิวที่มีส่วนผสมของเมนทอล แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือสารเคมีดังกล่าวได้  สะระแหน่เป็นพืชสมุนไพรที่มีเมนทอลเป็นส่วนประกอบหลักซึ่งหลายคนเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยลดความร้อนทางผิวหนัง รวมถึงบรรเทาอาการคันที่มีสาเหตุมาจากฮีสตามีนซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในร่างกาย จากการศึกษาทางคลินิกโดยสุ่มให้หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 และมีอาการคันจำนวน 96 คน ทาน้ำมันสะระแหน่ 0.5% ในน้ำมันงาหรือยาหลอก วันละ 2 ครั้งในบริเวณที่มีอาการคัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าน้ำมันสะระแหน่อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการคันในหญิงตั้งครรภ์และไม่ผลข้างเคียง ถึงแม้ว่าผลการทดลองจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ แต่หลักฐานสนับสนุนยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป


    อาการปวดประจำเดือน จากการหดตัวของมดลูก รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยปกติแพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน และเมนทอลซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของสะระแหน่ก็อาจมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและต้านการอักเสบด้วยเช่นกัน จากการศึกษาโดยสุ่มให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนหญิงอายุตั้งแต่ 18-25 ปี จำนวน 144 คน กลุ่มหนึ่งรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วันหลังมีประจำเดือน และรับประทานเมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic Acid) ชนิดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันเมื่อมีประจำเดือนในรอบถัดไป และอีกกลุ่มสลับกันโดยรับประทานเมเฟนามิค แอซิด ชนิดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันหลังมีประจำเดือน และรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วันเมื่อมีประจำเดือนในรอบถัดไป การทดลองนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 2 เดือน พบว่าการรับประทานน้ำมันสะระแหน่ทำให้ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนลดลงเช่นเดียวกับการรับประทานและเมเฟนามิค แอซิด อีกทั้งการรับประทานน้ำมันสะระแหน่ยังพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย รวมถึงเกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่า ถึงแม้ว่าผลการทดลองจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป โดยเพิ่มขนาดของน้ำมันสะระแหน่ หรือรับประทานในช่วงหลังระยะตกไข่ด้วย


การรักษาด้วยสะระแหน่ที่อาจไม่ได้ผล


อาการหลังการผ่าตัด การดมยาสลบก่อนการผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนหลังการผ่าตัดได้ประมาณร้อยละ 20-30 และการใช้ยาแผนปัจจุบันอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอหรืออาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้สารระเหยที่มีกลิ่นหอมหรืออะโรมาเทอราพี (Aromatherapy) เป็นทางเลือกในการรักษาถึงแม้หลักฐานสนันสนุนประสิทธิภาพของอะโรมาเทอราพีจะยังไม่เพียงพอก็ตาม มีการศึกษา 6 ชิ้นจาก 9 ชิ้นและผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 402 คน โดยให้สูดดมไอระเหยของไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตัวฆ่าเชื้อทางผิวหนังทั่วไป พบว่าอาจส่งผลให้อาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัดลดลง แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ยาจากการรักษาหลัก และปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่เชื่อถือได้จากการนำน้ำมันหอมระเหยของสะระแหน่มาใช้ในการรักษาอาการดังกล่าว


อีกทั้งยังมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสะระแหน่ต่อการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดแสดงให้เห็นว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์จากสะระแหน่ชนิดหนึ่งวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 วันหลังการผ่าตัดไม่ส่งผลให้อาการท้องอืดหรือแสบรอนกลางอกดีขึ้น หรือการรับประทานน้ำมันสะระแหน่แบบแคปซูลไม่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดหรือปวดท้องหลังการผ่าตัด


ความปลอดภัยในการรับประทานสะระแหน่


การรับประทานสะระแหน่และน้ำมันสะระแหน่โดยทั่วไปแล้วค่อนข้างปลอดภัยหากใช้รับประทานหรือใช้ทาที่บริเวณผิวหนังในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น แสบร้อนกลางอก มีอาการแพ้ หน้าแดง ปวดศีรษะ เป็นแผลในปาก เป็นต้น


ข้อควรระวังในการรับประทานสะระแหน่โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้


    ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรับประทานสะระแหน่ในรูปแบบอาหารเสริม ยารักษาโรค ในปริมาณที่มากกว่าปกติ จะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ในระหว่างนี้จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

    ผู้ที่มีภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Achlorhydria) ไม่ควรรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้เพราะอาจเกิดการแตกตัวก่อนในระหว่างการย่อยอาหาร

    ผู้ที่มีอาการท้องเสีย น้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่บริเวณทวารหนัก

    ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้เป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์หากรับประทานน้ำมันสะระแหน่ร่วมกับการใช้ยาดังต่อไปนี้

    ยาที่เปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ที่ตับ (P450) เนื่องจากการรับประทานน้ำมันสะระแหน่อาจลดประสิทธิภาพการทำงานของยาและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันสะระแหน่ร่วมกับยาดังต่อไปนี้

อะมิทริปไทลีน ฮาโลเพอริดอล ออนแดนเซทรอน โพรพราโนลอล ทีโอฟิลลีน เวอราปามิล เป็นต้น

โอเมพราโซล, แลนโซพราโซล, แพนโทพราโซล ไดอะซีแพม เนวฟิรนาเวียร์ เป็นต้น

ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน  มีลอกซีแคม ไพร็อกซิแคม เซเลโคซิบ วาร์ฟาริน เป็นต้น

โลวาสแตติน คีโตโคนาโซล ไอทราโคนาโซล เฟกโซเฟนาดีน ไตรอาโซแลม 

    ยาลดกรด ยายับยั้งการหลั่งกรด เนื่องจากวัสดุที่เคลือบผิวเม็ดน้ำมันสะระแหน่บางชนิดอาจเกิดการแตกตัวก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือคลื่นไส้ ดังนั้น ควรเว้นเวลารับประทานยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรดอย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำมันสะระแหน่



ความรู้ดีๆจาก : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,POBPAD

 

การบูร หรือ camphor





    ต้นการบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน พบการกระจายพันธุ์มายังแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร

    เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ "การบูร" ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะรากและโคนต้น

2. คำว่า "การบูร" มาจากลักษณะที่เหมือน "หินปูน"

    แต่เดิมนั้น คำว่า “การบูร” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “Karapur” หรือ “กรปูร” ซึ่งแปลว่า “หินปูน” เพราะโบราณเข้าใจว่าผนึกนี้เป็นพวกหินปูนที่มีกลิ่นหอม ต่อมาชื่อนี้เพี้ยนเป็น “กรบูร” และเป็น “การบูร” ในปัจจุบัน 

    อีกทั้งมีข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของต้นการบูร ถูกเรียกว่า สมุนไพรการบูร มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า การะบูน การบูร (ภาคกลาง), อบเชยญวน (ไทย), พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีนแต้จิ๋ว), จางมู่ จางหน่าว (จีนกลาง) เป็นต้น




3. เกล็ดการบูรสีขาว มาจากไหน?

จริงๆ แล้ว เกล็ดการบูร คือผลึกสีขาวที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือส่วนแก่นของต้น ซึ่งส่วนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนอื่น ทั้งนี้ สามารถนำลำต้น,ราก,ใบ มากลั่นหรือสกัดจนได้ผลึกสีขาวดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

4. ลักษณะจำเพาะของ "การบูร"

ผงการบูรหรือเกล็ดการบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดกลมๆ ขนาดเล็ก สีขาว มีความมันวาวและแห้ง มีกลิ่นหอมเย็นฉุน อาจจับกันเป็นก้อนร่วนๆ และแตกง่าย เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด มีรสร้อนปร่าเมา

5.ประโยชน์และสรรพคุณของ การบูร (camphor)

    การบูรเป็นพืชสมุนไพรที่มากไปด้วยประโยชน์ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งประโยชน์ของการบูรก็มีดังนี้

5.1 ขับปัสสาวะ
    การบูรสามารถนำมาใช้ขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่ว และอาการปัสสาวะติดขัดได้ รวมถึงช่วยบรรเทาและรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เช่นกัน ดังนั้นในคนที่มีอาการปัสสาวะติดขัด ต้องลองทานการบูรกันดูก็จะช่วยได้อย่างแน่นอน

5.2 รักษาโรคผิวหนัง
    การบูรมีสรรพคุณใช้รักษาโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาการผดผื่นคันที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง โรคกลาก เกลื้อน และยังสามารถนำมาใช้เพื่อลดรอยแตกลายบนผิวได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ให้รอยแตกลายดูจางลง และทำให้ผิวมีความเนียนนุ่มมากกว่าเดิม

5.3 บรรเทาอาการปวดฟัน
    การบูรมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาท สามารถระงับอาการปวดฟันได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการอักเสบของเหงือกร่วมด้วย สามารถนำการบูรมาใช้ในการรักษาได้เป็นอย่างดี

5.4 ช่วยขับลม
    การบูรมีคุณสมบัติในการช่วยขับลม ป้องกันอาการท้องอืด จุกเสียด กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ดังนั้นผู้ที่มีอาการเหล่านี้สามารถทานการบูรเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ต้องทานในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น

5.5 ใช้แก้พิษจากแมลง
    การบูรสามารถนำมาใช้แก้พิษจากแมลง ทำให้อาการเจ็บปวดบรรเทาลง และช่วยรักษาอาการจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ให้หายเร็วขึ้น

5.6 ลดไข้
    การบูรช่วยในการลดไข้ บรรเทาอาการหวัดได้เป็นอย่างดี โดยจะทำให้หายใจสะดวก แก้ไอ คัดจมูก และลดเสมหะได้อย่างดีเยี่ยม โดยบางคนแทบไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาเลยทีเดียว

5.7 ใช้รักษาแผล
    การบูรนิยมนำมาใช้เป็นยาสมานแผล เหมาะสำหรับการนำมารักษาแผลเปื่อยตามผิวหนัง โดยนอกจากจะช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบและป้องกันการติดเชื้อที่แผลได้ดีอีกด้วย

5.8 บำรุงหัวใจให้แข็งแรง
    การบูรมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจและระบบประสาทส่วนกลางได้เป็นอย่างดี จึงทำให้หัวใจมีความแข็งแรงมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ และโรคร้ายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจได้ดีอีกด้วย

5.9 ฆ่าเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
    การบูรสามารถยับยั้งและฆ่าเชื้อโรคบางชนิดที่เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง จึงไม่เจ็บป่วยได้ง่าย

5.10 บรรเทาอาการไอ
    การบูรสามารถบรรเทาอาการไอได้ โดยจะช่วยให้อาการไอลดน้อยลงจนหายเป็นปกติ และยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอที่เกิดจากการไอหรือการอักเสบได้อีกด้วย นอกจากนี้ก็จะช่วยขับเสมหะได้เช่นกัน ดังนั้นใครที่มีอาการไอบ่อยๆ ไม่ว่าจะไอเรื้อรังหรือไอเมื่อเป็นหวัด ก็ลองใช้การบูรในการแก้ไอกันดู รับรองว่าได้ผล

5.11 แก้อาการลำไส้อักเสบ
    ในคนที่มีอาการลำไส้อักเสบ ก็สามารถแก้อาการได้ด้วยการบูรเช่นกัน โดยจะทำให้อาการอักเสบค่อยๆ ทุเลาลง และหายเป็นปกติเร็วขึ้น

5.12 บรรเทาอาการท้องเสีย
    เมื่อมีอาการท้องเสีย ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระเพาะหรือลำไส้เกิดความเย็นชื้น ก็สามารถบรรเทาและรักษาอาการด้วยการบูรได้ โดยจะช่วยให้อาการท้องเสียทุเลาลงและหายเป็นปกติ พร้อมช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสียบ่อยๆ ด้วยเช่นกัน

5.13 กำจัดพยาธิในท้อง
    พยาธิในท้อง เป็นตัวการของโรคร้ายหลายโรค จึงควรกำจัดออกให้หมด ซึ่งการทานการบูรก็จะช่วยฆ่าพยาธิที่อยู่ในท้องได้ จึงลดความเสี่ยงการป่วยด้วยโรคร้ายจากพยาธิได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่าในร่างกายมีพยาธิอยู่มากน้อยเท่าไหร่ จึงควรกินการบูรเป็นประจำ เพื่อกำจัดพยาธิให้หมดไปนั่นเอง

5.14 แก้อาการชักบางประเภท
    การบูรสามารถนำมาใช้เพื่อแก้อาการชักบางประเภทได้ โดยเฉพาะอาการชักที่ไม่รุนแรงมากนัก โดยกลิ่นหอมของการบูรจะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย จึงลดอาการกระตุกและอาการชักได้เป็นอย่างดี

5.15 ต้านเชื้อแบคทีเรีย
    การทานการบูรเป็นประจำ จะช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เข้าสู่ร่างกายได้ จึงช่วยป้องกันการป่วยของโรคที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี หรือจะเป็นการติดเชื้อภายนอกร่างกาย เช่นบนผิวหนัง ก็สามารถต้านเชื้อได้เหมือนกัน

5.16 ลดคอเลสเตอรอล
    การบูรมีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบเผาผลาญ ให้มีการสลายไขมันมากขึ้น และลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้ต่ำลง จึงป้องกันโรคร้ายที่เกิดจากภาวะคอเลสเตอรอลสูง อย่างเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในคนที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูง จึงควรทานการบูร เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติมากขึ้น

5.17 บำรุงกำลัง
    การบูร จะช่วยบำรุงกำลัง ให้รู้สึกมีพละกำลังมากขึ้น และร่างกายมีความแข็งแรงมากกว่าเดิม เหมาะกับคนที่มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรงเป็นที่สุด นอกจากนี้ในคนที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศเสื่อม การบูรก็จะช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศให้ดีขึ้น และเพิ่มกำลังวังชา ให้มีแรงฮึดขึ้นได้เช่นกัน




ข้อมูลดีๆจาก : กรุงเทพธุรกิจ,hdmall,Health Kapook

เอทานอล Ethanol





เอทานอล (Ethanol) แอลกอฮอล์ คืออะไร


 “เอทิลแอลกอฮอล์” หรือ “เอทานอล” มีสูตรเคมีคือ C2H5OH เป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ ไวไฟสูง สามารถละลายน้ำได้ เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แอลกอฮอล์ชนิดนี้กินได้ นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า ไวน์ และเบียร์ ยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดแผล ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น


ความเป็นพิษต่อร่างกาย คือ โรคพิษสุราเรื้อรังและตับอักเสบ เป็นอาการพิษของผู้เสพสุราเป็นระยะเวลานาน นั่นคือ อาการพิษเรื้อรังที่เกิดจากเอทานอล แต่พิษเฉียบพลันที่เกิดจากการกินเข้าไปมาก ๆ ในครั้งเดียวก็คืออาการเมานั่นเอง แต่ทั้งนี้แม้ว่าเอทานอลจะกินได้ ก็ใช่ว่าจะนำเอทานอลในน้ำยาล้างแผลมาดื่มแทนเหล้าได้ เพราะในน้ำยาล้างแผลจะมีการใส่สีไว้เพื่อป้องกันการนำไปรับประทาน


เอทานอลเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

ผลิตได้จากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประภท

วัตถุดิบประเภทน้ำตาล : ได้แก่ น้ำอ้อย น้ำตาลจากบีท และกากน้ำตาลซึ่งยีสต์สามารถ ย่อยสลายวัตถุดิบประเภทนี้ได้เลยทันทีโดยไม่ต้องผ่านการย่อยเพื่อเป็นน้ำตาล (Pretreatment)

วัตถุดิบประเภทแป้ง : ได้แก่ มันสำปะหลัง ธัญพืชและมันฝรั่งในการผลิตจะต้องย่อยแป้งในวัตถุดิบให้เป็นน้ำตาลกลูโคสซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดียวเสียก่อนยีสต์จึงจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอลได้

วัตถุดิบประเภทที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเกษตร : เช่น กากอ้อย ฟางข้าวซังข้าวโพด และของเสียจากอุตสาหกรรม เยื่อกระดาษ ฯลฯ

เอทานอลมีค่าออกเทนสูงนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ ถ้าผสมกับน้ำมันดีเซล เรียกว่าน้ำมันดีโซฮอล์ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

เอทานอลกินได้ไหม?

เอทานอลกินได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับเกรดของสินค้า โดยตัวเอทิลแอลกอฮอล์(เอทานอล) ที่ไม่มีสารเจือปนที่เป็นอันตราย เช่น เมทิลแอลกอฮอล์ และถูกระบุว่าเป็น food grade สามารถในไปใช้ประกอบอาหารได้ ทั้งนี้ต้องระวังเอทานอลที่ความเข้มข้นสูงร่างกายก็ไม่สามารถรับได้ ทำให้ถึงตายได้


ถ้าไม่ได้เป็น food grade อาจจะมีสารเจือปนที่เป็นอันตรายผสมอยู่ อีกทั้ง ในบางครั้งยังมีการใส่รสชาติขมป้องกันการใช้ผิดประเภทตามกฏหมาย แม้ว่าจะไม่มีสารเจือปนที่เป็นอันนตรายอยู่ ทำให้กินไม่ได้


ดังนั้นต้องระวังอย่างมาก อย่านำไปประกอบอาหารโดยไม่แน่ใจ อาจทำให้ถึงตายได้


เอทานอล แบ่งเป็น 2 ประเภทกว้างๆ

1. Anhydrous Ethanol (เอทานอลแบบแห้ง) คือ เอทานอลที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์โดยมีความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 99% ขึ้นไปสามารถนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับรถยนต์ได้


Denatured anhydrous ethanol เอทานอลที่เติมสารแปรสภาพลงไปเพื่อให้เอทานอลนั้นไม่สามารถกินได้

Indentured anhydrous Ethanol เอทานอลบริสุทธิ์ที่ไม่มีสิ่งเจือปนลงไป สามารถใช้กินได้


2. Hydrous Ethanol (เอทานอลแบบเปียก) คือ เอทานอลที่ผ่านการหมักและกลั่นโดยยังไม่ผ่านกระบวนการแยกน้ำ มีน้ำผสมมากกว่า 5% ขึ้นไป ใช้เป็นเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ได้


สำหรับผู้ผลิตเจลล้างมือ หรือบุคคลทั่วไปส่วนมากจะใช้เป็น hydrous ethanol เนื่องจากต้องนำเอทานอลมาเติมน้ำให้ได้ 70% อยู่ดี จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องผ่านกระบวนการแยกน้ำออก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายสูง


เอทานอล มีประโยชน์อย่างไร นำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง

เอทานอล แอลกอฮอล์ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของสินค้าหลากหลายชนิด ดังนี้

ใช้เป็นสารตั้งต้นหรือตัวทำละลาย เช่น การผลิตเครื่องสำอาง ยา น้ำหอม สบู่ เป็นต้น

ใช้ผสมในเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มค่าออกเทน และลดปริมาณเชื้อเพลิงบางชนิด เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์

เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ

ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อหรือล้างแผล เช่น แอลกอฮอล์ 75%

ใช้สำหรับการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อ

ใช้เป็นตัวทำละลายทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและทางเภสัชกรรม เช่น เป็นตัวทำละลายในยาแก้ไอ



ขอบคุณสาระดีๆจาก : etohcols


ฺสเปรย์ไล่หนู